เนื่องจากการทุจริตสามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบเพื่อความชัดเจนในการดำเนินการในเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงกับการเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น กรรมการบริษัท ผู้บริหาร และพนักงานโมโนกรุ๊ป ทุกระดับต้องปฏิบัติด้วยความระมัดระวังในเรื่องต่อไปนี้
1. ค่าอำนวยความสะดวกและเงินให้สินบน
1.1 บริษัทไม่มีนโยบายที่จะจ่ายหรือรับค่าอำนวยความสะดวกหรือ “เงินให้สินบน”
1.2 หากพนักงานได้รับการร้องขอให้จ่ายเงินในนามของบริษัท ควรระมัดระวังการจ่ายเงินดังกล่าวนั้นและต้องพิจารณาด้วยว่า การจ่ายเงินกระทำเพื่ออะไรและจำนวนเงินที่จ่ายเหมาะสมหรือไม่ พนักงานควรขอใบเสร็จรับเงิน หรือ ต้องจัดทำเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร ที่มีรายละเอียดวัตถุประสงค์ของการจ่ายเงิน และหากไม่แน่ใจหรือสงสัยให้แจ้งผู้บังคับบัญชาตามสายงานทราบ
2. การเลี้ยงรับรอง และ การให้หรือรับของกำนัล ของขวัญ
2.1 พนักงานต้องหลีกเลี่ยงการเลี้ยงรับรอง หรือการแลกเปลี่ยนของกำนัล ที่มีมูลค่าสูงเกินสมควรหรือถี่เกินสมควร เว้นแต่เป็นการเลี้ยงรับรองเพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ และเป็นการรักษาสัมพันธภาพอันดีซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการประกอบธุรกิจ โดยไม่หวังที่จะได้รับการบริการหรือสิ่งตอบแทน โดยเฉพาะเจาะจงที่ไม่ถูกต้องตามหลักจรรยาบรรณทางธุรกิจ และให้เป็นไปตามหลักการการขออนุมัติและระเบียบการเบิกค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ อย่างเคร่งครัด
2.2 การให้หรือรับ ของกำนัล ของขวัญหรือบริการ เงินสดหรือสิ่งของแทนเงินสด พนักงานสามารถให้ หรือ รับของขวัญได้ หากเข้าเงื่อนไขทุกข้อ ดังต่อไป
– ไม่ได้เป็นการกระทำเพื่อครอบงำ ชักนำ หรือ ตอบแทนบุญคุณใดๆ เพื่อได้มาซึ่งความได้เปรียบผ่านการกระทำที่ไม่เหมาะสม หรือเป็นการแลกเปลี่ยนอย่างชัดเจนหรือแอบแฝงเพื่อให้ได้มาซึ่งการช่วยเหลือหรือผลประโยชน์
– เป็นการให้ในนามบริษัทไม่ใช่ในนามของพนักงาน และเป็นการให้อย่างเปิดเผย ไม่ปกปิด
– เป็นการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น การให้ของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ในช่วงเทศกาลสำคัญอย่าง เทศกาลปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฎิบัติปกติ และควรเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเงินและมีมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท
– ประเภทและมูลค่ามีความเหมาะสมและมอบให้ถูกต้องตามกาลเทศะ อาทิ สิ่งที่จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมการขาย ซึ่งประทับตราบริษัท (เช่น ปากกา หมวก เสื้อยืด) หรือ สิ่งที่ทำขึ้นเพื่อแจกโดยทั่วไป (เช่น แจกพนักงาน หรือแจกลูกค้าอื่นของคู่ค้า) เป็นต้น
– เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2.3 สำหรับการรับ พนักงานสามารถรับของขวัญซึ่งมีมูลค่าได้ไม่เกิน 3,000 บาท กรณีที่มูลค่าเกินต้องแจ้งให้ลูกค้า คู่ค้า หรือผู้มีส่วนได้เสียทราบว่าเป็นการผิดระเบียบของบริษัท กรณีที่ไม่สามารถปฎิเสธและจะต้องรับของขวัญมูลค่าเกินกว่า 3,000 บาท ให้ส่งมอบของขวัญดังกล่าว ให้ผู้บังคับบัญชาตามสายงาน / ฝ่ายทรัพยากรบุคคล โดยให้ใช้แบบรายงานการรับของขวัญ พร้อมกับส่งแบบรายงานของขวัญดังกล่าวให้แก่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล เพื่อนำไปเป็นสวัสดิการ ของรางวัลแก่พนักงาน หรือบริจาคเพื่อการกุศลในนามของบริษัทตามโอกาสและความเหมาะสมต่อไป
2.4 เมื่อต้องติดต่อธุรกิจในต่างประเทศหรือต่างวัฒนธรรม ซึ่งถือว่าการแลกเปลี่ยนไมตรีทางการค้าด้วยของกำนัลที่มูลค่าสูง เป็นมารยาททางธุรกิจที่ดีและเหมาะสม การมอบและการรับของกำนัลดังกล่าว พนักงานต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบเพื่อลงบันทึกเป็นทรัพย์สินของบริษัท
3. เงินบริจาคเพื่อการกุศล หรือเงินสนับสนุน
การให้หรือรับเงินบริจาค หรือเงินสนับสนุนต้องเป็นไปอย่างโปร่งใสและถูกต้องตามกฎหมาย โดยต้องมั่นใจว่าเงินบริจาค หรือเงินสนับสนุนไม่ได้ถูกนำไปใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการติดสินบน และจะต้องไม่ถูกมองว่ามีวัตถุประสงค์ที่ไม่เหมาะสม เมื่อใดก็ตามที่บริษัทฯ มีการบริจาคเพื่อการกุศลหรือการเป็นสปอนเซอร์ให้การสนับสนุนจะกระทำอย่างโปร่งใส และเป็นไปตามกฎหมายกำหนดไว้ และได้ผ่านการพิจารณาอนุมัติตามระดับอำนาจอนุมัติของบริษัทฯ
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้กำหนดให้มีกระบวนการควบคุม การตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจว่าการใช้เงินสนับสนุนไม่ได้ใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการคอร์รัปชั่น มีขั้นตอนการอนุมัติและการใช้เงินสนับสนุนสอดคล้องกับกระบวนการควบคุมภายใน และเป็นไปตามหลักการขออนุมัติและระเบียบการเบิกค่าใช้จ่าย
4. การสนับสนุนและการช่วยเหลือทางการเมือง
4.1 บริษัทฯ มีนโยบายเป็นกลางทางการเมือง ไม่ช่วยเหลือ สนับสนุนพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองหรือ นักการเมือง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
4.2 พนักงานมีสิทธิเสรีภาพที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย แต่จะต้องไม่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในบริษัทฯ โดยกระทำนอกเวลาทำการและไม่ใช้ทรัพยากรหรือทรัพย์สินของบริษัทฯ ในการกระทำดังกล่าว
4.3 กรณีที่บริษัทฯ มีความประสงค์ที่จะสนับสนุนทางการเมือง เพื่อเป็นการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย การสนับสนุนดังกล่าวจะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือ ต้องไม่กระทำไปด้วยความคาดหวังที่จะได้รับการปฎิบัติตอบแทนเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ ในการสนับสนุนจะต้องดำเนินการ ตามระเบียบว่าด้วยการเบิกจ่าย โดยระบุชื่อผู้รับ การสนับสนุน วัตถุประสงค์ รายละเอียด จำนวนเงิน วันที่ขอเบิกเงิน พร้อมทั้งแนบเอกสาร
หลักฐานประกอบทั้งหมด เสนอให้ผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติตามระดับอำนาจอนุมัติของบริษัทฯ
5. บริษัทและบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจกับภาครัฐ หรือ ภาคเอกชน
5.1 บริษัทฯ สนับสนุนให้บริษัทย่อยหรือบริษัทในเครือทั้งกลุ่ม ที่บริษัทฯ มีอำนาจในการควบคุมปฎิบัติตามมาตรการต่อต้านการทุจริต และการคอร์รัปชั่นอย่างสิ้นเชิง
5.2 บุคคลเหล่านี้ ได้แก่ ตัวแทน ตัวกลางทางธุรกิจทั้งภาครัฐและเอกชน คู่ค้า ผู้รับเหมา ผู้จัดจำหน่ายสินค้า/บริการ และผู้ที่เกี่ยวข้องทางธุรกิจ ทางบริษัทฯ จะจัดให้มีการจัดซื้อ จัดหาสินค้า/บริการ ประเมินการคัดเลือกผู้จัดจำหน่าย ผู้รับเหมา ตลอดจนตัวกลางทางธุรกิจด้วยความโปร่งใส รอบคอบ โดยจะแจ้งให้ทราบถึงนโยบายฉบับนี้ และในเบื้องต้นให้ปฎิบัติตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน แนวปฎิบัติ เรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง
6. การจ้างพนักงานรัฐ (Revolving Door)
6.1 บริษัทไม่จ้างหรือแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ยังอยู่ในตําแหน่ง ยกเว้นรัฐวิสาหกิจที่มีข้อกําหนดจากหน่วยงานจัดตั้งให้สามารถมีตัวแทนจากหน่วยงานรัฐเข้ามาปฏิบัติงานในองค์กรได้
6.2 กําหนดระยะเวลาเว้นวรรค (cooling-off period) เป็นเวลา 2 ปีสําหรับการแต่งตั้งอดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ออกจากตําแหน่ง หรือบุคคลที่เคยทํางานให้กับหน่วยงานกํากับดูแลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทโดยตรง
6.3 มีกระบวนการตรวจสอบประวัติ (Due Diligence) ของบุคคลที่บริษัทจะสรรหาเพื่อแต่งตั้งเข้ามาดํารงตําแหน่งกรรมการ ที่ปรึกษา และผู้บริหารของบริษัท เพื่อตรวจสอบสิ่งที่อาจเป็นประเด็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ก่อนแต่งตั้ง
6.4 ห้ามทำหน้าที่หรือปฏิบัติงาน ในประเด็นที่มีผลประโยชน์ขัดแย้ง เพื่อป้องกันการใช้อำนาจในทางมิชอบหรือ เช่น การเปิดเผยความลับของหน่วยงานของรัฐที่ตนเคยสังกัด การ lobby เพื่อได้รับประโยชน์ในทางที่มิชอบ การถูกมอบหมายให้ติดต่อหน่วยงานเดิมที่เคยสังกัด เป็นต้น
6.5 เปิดเผยข้อมูลรายนามและประวัติของบุคคลที่เคยเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับการแต่งตั้งมาเป็นที่ปรึกษา/กรรมการ/ผู้บริหารของบริษัทพร้อมระบุเหตุผลการแต่งตั้งบุคคลเหล่านั้นในเอกสารเผยแพร่ของบริษัท