คณะกรรมการบริษัท

5. คณะกรรมการบริษัท

คณะกรรมการบริษัท มีจำนวน 7 ท่าน โดยมีรายชื่อกรรมการ ดังนี้

รายชื่อกรรมการ ตำแหน่ง
1. นายนวมินทร์ ประสพเนตร ประธานกรรมการ
2. นายปรีชา ลีละศิธร กรรมการอิสระ ประธานกรรมการตรวจสอบและบรรษัทภิบาล และประธานกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน
3. ดร.คาล จามรมาน กรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบและบรรษัทภิบาล และกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน
4. นายเจริญ แสงวิชัยภัทร กรรมการอิสระ, กรรมการตรวจสอบและบรรษัทภิบาล และ กรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน
5. นายพลพัฒน์ อัศวะประภา กรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบและบรรษัทภิบาล และกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน
6. นางสาวเบญจวรรณ รักวงษ์ กรรมการ
7. นายบรรณสิทธิ์ รักวงษ์ กรรมการ กรรมการบริหาร  กรรมการบริหารความเสี่ยงและความยั่งยืน  และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ

โดยมี นางสาวปิติฤดี ศิริสัมพันธ์ เป็นเลขานุการบริษัท กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท นายนวมินทร์ ประสพเนตร นายปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์ นายบรรณสิทธิ์ รักวงษ์ กรรมการสองในสามคนลงลายมือชื่อร่วมกัน และประทับตราสำคัญของบริษัท วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการบริษัท ในการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปีทุกครั้ง ให้กรรมการออกจากตำแหน่งเป็นจำนวน 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการในขณะนั้น ถ้าจำนวนกรรมการจะแบ่งออกให้ตรงเป็นสามส่วนไม่ได้ ก็ให้ออกโดยจำนวนใกล้ที่สุดกับส่วน 1 ใน 3 กรรมการที่จะต้องออกจากตำแหน่งในปีแรก และปีที่สองภายหลังจดทะเบียนบริษัทนั้น ให้จับสลากกัน ส่วนปีหลังๆ ต่อไป ให้กรรมการคนที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดนั้น เป็นผู้ออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้น อาจได้รับเลือกให้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกได้ ขอบเขตอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท

  1. พิจารณากำหนดรายละเอียดและให้ความเห็นชอบ วิสัยทัศน์ กลยุทธ์ ทิศทางธุรกิจ นโยบาย เป้าหมายที่เป็นตัวเงิน และไม่ใช่ตัวเงิน แผนการดำเนินงานระยะสั้น กลาง ยาว และงบประมาณของบริษัทและบริษัทย่อย ตามที่คณะกรรมการบริหารและฝ่ายจัดการจัดทำ โดยมีการพิจารณาทบทวนทุกปี ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และศักยภาพทางธุรกิจ เพื่อสร้างความยั่งยืนแก่ธุรกิจ
  2. กำกับดูแลให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับบริษัท มติคณะกรรมการบริษัท และมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น
  3. มอบหมายอำนาจการบริหารให้คณะกรรมการบริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือบุคคลอื่นใด ซึ่งได้รับมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษร กำกับดูแลการบริหารงานและผลการปฏิบัติงานของบุคคลดังกล่าว ให้เป็นไปตามนโยบายที่คณะกรรมการบริษัทกำหนด รวมถึงพิจารณาแบ่งบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการ คณะกรรมการบริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ให้ชัดเจนสอดคล้องกับทิศทางของบริษัท
  4. ติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามกลยุทธ์ของบริษัท แผนการดำเนินงานและงบประมาณของบริษัท โดยฝ่ายบริหารจะรายงานผลการปฏิบัติงานตามกลยุทธ์เป็นรายไตรมาส
  5. ดำเนินการให้บริษัทและบริษัทย่อยมีระบบควบคุมภายใน และระบบบริหารความเสี่ยงที่เพียงพอ เหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่าการทำรายการต่างๆ ได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจ และมีการป้องกันความเสี่ยงอันมีผลกระทบต่อบริษัท
  6. ดำเนินการให้มีการนำระบบงานบัญชีที่เหมาะสมมาใช้ จัดทำงบการเงิน ลงลายมือชื่อรับรองงบการเงิน และนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี เพื่อพิจารณาอนุมัติ
  7. พิจารณาให้ความเห็นชอบการคัดเลือก เสนอแต่งตั้ง และเลิกจ้างผู้สอบบัญชี และพิจารณาค่าตอบแทนที่เหมาะสมตามที่คณะกรรมการตรวจสอบและบรรษัทภิบาลนำเสนอ ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นในการประชุมสามัญประจำปี เพื่อพิจารณาอนุมัติ
  8. จัดให้มีนโยบายการกำกับดูแลกิจการ จริยธรรมทางธุรกิจ จรรยาบรรณกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน เป็นลายลักษณ์อักษร สื่อสารแนวทางการปฏิบัติให้พนักงานทุกระดับรับทราบ และติดตามผลการปฏิบัติตามนโยบาย ซึ่งดำเนินการทบทวนนโยบายและการปฏิบัติเป็นประจำทุกปี
  9. จัดทำกฎบัตรคณะกรรมการบริษัท ซึ่งระบุหน้าที่ ความรับผิดชอบของกรรมการ และอนุมัติกฎบัตรของคณะกรรมการชุดอื่นๆ และทบทวนกฎบัตรอย่างน้อยปีละครั้ง
  10. พิจารณาอนุมัติแต่งตั้งบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 (รวมทั้งที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม) พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (รวมทั้งที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม) รวมถึง ประกาศ ข้อบังคับ และ/หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง เข้าดำรงตำแหน่งในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการว่างลงเพราะเหตุอื่นนอกจากออกตามวาระ และพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ออกตามวาระ และการกำหนดค่าตอบแทนกรรมการตามที่คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนนำเสนอ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติ
  11. แต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อย เช่น คณะกรรมการตรวจสอบและบรรษัทภิบาล คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและความยั่งยืน หรือคณะกรรมการชุดย่อยอื่นใด และกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดย่อยดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ
  12. พิจารณากำหนดและแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อกรรมการซึ่งมีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทได้
  13. พิจารณาแต่งตั้งผู้บริหารตามคำนิยามที่กำหนดโดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หรือคณะกรรมการกำกับตลาดทุน และเลขานุการบริษัท รวมทั้งพิจารณากำหนดค่าตอบแทนของผู้บริหารดังกล่าวตามที่คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนนำเสนอ
  14. ขอความเห็นทางวิชาชีพจากองค์กรภายนอก หากมีความจำเป็นเพื่อประกอบการตัดสินใจที่เหมาะสม
  15. ส่งเสริมให้กรรมการและผู้บริหารของบริษัทเข้าร่วมหลักสูตรสัมมนาต่างๆ ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการและผู้บริหารนั้น

ทั้งนี้ การมอบหมายอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทนั้น จะไม่มีลักษณะเป็นการมอบอำนาจ หรือมอบอำนาจช่วงที่ทำให้คณะกรรมการบริษัทหรือผู้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการบริษัท สามารถอนุมัติรายการที่ตนหรือบุคคลที่อาจมีความขัดแย้ง (ตามที่นิยามไว้ในประกาศ ก.ล.ต. หรือประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน) อาจมีส่วนได้เสีย หรืออาจได้รับประโยชน์ในลักษณะใดๆ หรืออาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์อื่นใดกับบริษัทหรือบริษัทย่อยของบริษัท ยกเว้นเป็นการอนุมัติรายการที่เป็นไปตามนโยบาย และหลักเกณฑ์ที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นหรือคณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติไว้ ขอบเขตอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของประธานกรรมการ

  • รับผิดชอบเป็นผู้นำคณะกรรมการบริษัท ตัดสินใจเรื่องเกี่ยวกับนโยบายบริษัท เป้าหมายทางธุรกิจร่วมกับฝ่ายจัดการ อันเป็นผลจากการประชุมคณะกรรมการบริษัท
  • กำกับ ติดตาม การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดย่อย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุวัตถุประสงค์ของบริษัท
  • เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท และที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ควบคุมการประชุมให้มีประสิทธิภาพ จัดสรรเวลาประชุมอย่างเพียงพอในการพิจารณาประเด็นสำคัญอย่างรอบคอบ ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระที่กำหนด และเป็นไปตามข้อบังคับบริษัท
  • พิจารณากำหนดวาระการประชุมร่วมกับฝ่ายจัดการ และให้เรื่องสำคัญได้รับการบรรจุเป็นวาระการประชุม ส่งเสริมให้กรรมการทุกคนมีส่วนร่วมในการประชุม และแสดงความเห็นอย่างเป็นอิสระ
  • ส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรในการมีจริยธรรม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี
  • สร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างกรรมการที่เป็นผู้บริหาร และกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร รวมถึงระหว่างคณะกรรมการและฝ่ายจัดการ
  • ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมายตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท และ/หรือ มติที่ประชุมผู้ถือหุ้น

ขอบเขตอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

  • บริหารจัดการบริษัท บริษัทย่อย และบริษัทร่วม ให้สอดคล้องกับ วิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบาย ภายใต้กรอบอำนาจที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท
  • กำกับดูแลให้การดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เป้าหมายหลักของบริษัท ติดตามการดำเนินงานของฝ่ายจัดการ รายงานผลการดำเนินงาน และผลประกอบการต่อคณะกรรมการบริษัทอย่างสม่ำเสมอ
  • กำหนดนโยบายและระเบียบการปฏิบัติงานต่างๆ ในอันที่จะสนับสนุนการดำเนินงานทุกหน่วยงานให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการบริษัทกำหนด
  • ส่งเสริมให้บริษัทดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม และจรรยาบรรณ ภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
  • ส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรในการมีจริยธรรม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี
  • บริหารจัดการงานทรัพยากรบุคคล การคัดเลือกบุคลากร บริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการ ส่งเสริมพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพ
  • บริหารจัดการด้านการเงิน การใช้ทรัพยากร และงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมายตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท และ/หรือ มติที่ประชุมผู้ถือหุ้น

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อการนำเสนอเนื้อหาที่ดี รวมถึงการจัดการข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้คุณได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากคุณใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั้น แสดงว่าคุณยอมรับนโยบายคุ้กกี้และนโยบายส่วนบุคคลของเรา